การศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินโครงการระบบส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์แบบแปลงใหญ่ด้านปศุสัตว์

กรณีศึกษา : กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่แพะเนื้อเมืองสรรค์ อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท 

เพ็ญแข สายเชื้อ1

จีรพรรณ ทองแท่น2 

บทคัดย่่อ

          การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาข้อมูลทั่วไปของกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ และศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินโครงการระบบส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์แบบแปลงใหญ่ด้านปศุสัตว์ ของกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่แพะเนื้อเมืองสรรค์ อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท รวมทั้งศึกษาปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะ โดยศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จำนวน 41 ราย รวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ความแปรปรวน และการวิเคราะห์ความถดถอยเชิงพหุ ผลการศึกษาพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 65.9 อายุเฉลี่ย 50.83 ปี มีการศึกษาระดับประถมศึกษา ร้อยละ 39.0 มีอาชีพหลักเป็นเกษตรกร ร้อยละ 95.1 มีจำนวนสมาชิกในครัวเรือนเฉลี่ย 3.88 คน จำนวนสมาชิกที่เป็นแรงงานภาคเกษตรเฉลี่ย 2.34 คน มีจำนวนพื้นที่ถือครองเฉลี่ย 10.18 ไร่ จำนวนพื้นที่เข้าร่วมโครงการแปลงใหญ่เฉลี่ย 4.42 ไร่ เกษตรกรมีจำนวนแพะเฉลี่ย 44.78 ตัว ส่วนใหญ่เลี้ยงแพะพันธุ์ลูกผสม รายได้จากการผลผลิตแพะในช่วงปีที่ผ่านมาเฉลี่ย 56,829.27 บาท และมีรายได้จากการขายมูลแพะเฉลี่ย 1,321.95 บาท เกษตรกรมีความคิดเห็นต่อปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินโครงการในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด และมีความคิดเห็นต่อผลลัพธ์ของการดำเนินโครงการโดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อทำการเปรียบเทียบความคิดเห็นของเกษตรกรต่อปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินโครงการจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล พบว่า เพศมีความคิดเห็นต่อปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินโครงการ ในด้านการดูแลเอาใจใส่ของเจ้าหน้าที่ แตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 และอาชีพหลักมีความคิดเห็นต่อปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินโครงการในด้านการดูแลเอาใจใส่ของเจ้าหน้าที่ และด้านการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ แตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของความคิดเห็นของเกษตรกรต่อผลลัพธ์ของการดำเนินโครงการ จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล พบว่า อายุมีผลต่อผลลัพธ์การดำเนินโครงการในด้านการพัฒนาคุณภาพการผลิตแตกต่างกัน ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 ระดับการศึกษา และสถานภาพทางสังคมมีผลต่อผลลัพธ์การดำเนินโครงการในด้านตลาด แตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 และจากการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินโครงการกับผลลัพธ์ของการดำเนินโครงการพบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินโครงการ ด้านการสนับสนุนการดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ มีความสัมพันธ์กับผลลัพธ์ของการดำเนินโครงการ อย่างมีระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 ปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะของเกษตรกรพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่มีความต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนปัจจัยการผลิตและให้ความรู้อย่างเพียงพอและเหมาะสม และควรให้เจ้าหน้าที่เข้าไปติดตามดูแลให้คำแนะนำมากยิ่งขึ้น

คำสำคัญ :    ระบบส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์แบบแปลงใหญ่ กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่แพะเนื้อ เมืองสรรค์

เลขทะเบียนวิชาการ : 63(2)-0216(1)-181
1/ สำนักงานปศุสัตว์เขต 1 กรมปศุสัตว์

2/ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมปศุสัตว์

 คลิกอ่านรายละเอียดเนื้อหา