สำรวจความชุกและปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อปรสิตในกระแสเลือดของโคนมในพื้นที่ปศุสัตว์เขต 1
สถิตย์พงษ์ พรหมสถิตย์1/ ชัชรี นิยโมสถ2/
บทคัดย่อ
โรคติดเชื้อปรสิตในกระแสเลือดเป็นโรคที่มีความสำคัญ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพสัตว์และก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูงโดยเฉพาะในการเลี้ยงโคนม ซึ่งพบการเลี้ยงกันอย่างหนาแน่นในแถบภาคกลางของประเทศไทย การศึกษาในครั้งนี้จึงเลือกทำการศึกษาในพื้นที่ปศุสัตว์เขต 1 ซึ่งครอบคลุมจังหวัดในพื้นที่ภาคกลาง 9 จังหวัด ซึ่งพบว่ามีการเลี้ยงโคนมรวมกันมากถึงร้อยละ 31.12 ของประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำการสำรวจความชุก และศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อปรสิตในกระแสเลือด เพื่อนำมาใช้ในการแนะนำเกษตรกรเพื่อการป้องกันและควบคุมโรคในพื้นที่ต่อไป วิธีการศึกษาโดยทำการเข้าเก็บข้อมูลจากการสำรวจฟาร์มระหว่างเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2563 - เดือนมิถุนายน พ.ศ.2564 ร่วมกับการเก็บตัวอย่างด้วยเทคนิคการทำเลือดป้ายสไลด์แบบบาง จากนั้นดำเนินการส่งตรวจยังสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติซึ่งจะทำการย้อมด้วยสี Giemsa 10% แล้วส่องดูภายใต้กล้องจุลทรรศน์ โดยดำเนินการในฟาร์มโคนมทั้งสิ้น 400 ฟาร์ม และเก็บตัวอย่างเลือดจากโคนม 6,319 ตัว จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องโดยการวิเคราะห์ทางสถิติ ผลการศึกษาพบว่าโคนมมีค่าประมาณความชุกที่แท้จริงของปรสิตชนิด Theileria spp. สูงที่สุดที่ร้อยละ 20.41 (95% CI = 18.79 – 22.17) รองลงมาเป็น Anaplasma spp. ร้อยละ 3.38 (95% CI = 2.64 – 4.33) T. evansi ร้อยละ 0.14 (95% CI = 0.05 – 0.40) และ Babesia spp. ร้อยละ 0.09 (95% CI = 0.02 – 0.31) ตามลำดับ ในส่วนของการศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องพบปัจจัยป้องกันต่อการตรวจพบปรสิตชนิดที่สามารถก่อให้เกิดอาการในฟาร์มโคนม คือการมีโปรแกรมการกำจัดพยาธิภายนอกของฟาร์มเป็นประจำ ซึ่งมีค่า adjusted OR เท่ากับ 0.25 (95% CI = 0.10 - 0.64) และพบปัจจัยเสี่ยงต่อการตรวจพบปรสิตอย่างน้อย 1 ชนิด ในฟาร์มโคนม คือขนาดของฟาร์มที่มีขนาดใหญ่มีค่า adjusted OR เท่ากับ 2.72 (95% CI = 1.26 – 5.88) เมื่อเทียบกับฟาร์มที่มีขนาดเล็ก ซึ่งจากการศึกษาครั้งนี้พบว่าควรแนะนำให้เกษตรกรมีการกำหนดโปรแกรมการกำจัดพยาธิภายนอกของฟาร์มเป็นประจำ โดยเฉพาะฟาร์มโคนมที่อยู่ในพื้นที่ที่พบการระบาดของปรสิตในกระแสเลือดเป็นระยะ ซึ่งรูปแบบที่ใช้นั้นจำเป็นต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับชนิดของแมลงพาหะที่พบในพื้นที่อีกด้วย เพื่อเป็นการลดโอกาสที่โคนมในฟาร์มจะได้รับเชื้อปรสิตผ่านแมลงพาหะต่อไป
คำสำคัญ: ปรสิตในกระแสเลือด โคนม ความชุก ปัจจัยเสี่ยง พื้นที่ปศุสัตว์เขต 1
เลขทะเบียนผลงานวิชาการ: 64(2)-0116(1)-141
1/ สำนักงานปศุสัตว์เขต 1 ปทุมธานี
2/ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสระบุรี สระบุรี