การเฝ้าระวังสารพิษจากเชื้อราในวัตถุดิบอาหารสัตว์

รักไทย งามภักดิ์1 วนิดา แจ้งประจักษ์1 วีระ อิ้งสอาด1 นารถตยา ชมนารถ1  

บทคัดย่อ

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเฝ้าระวังการปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อราชนิด อะฟลาทอกซินรวม อะฟลาทอกซิน (บี1 บี2 จี1 และ จี2) ฟูโมนิซิน (บี1 และ บี2) และซีราลีโนน ในวัตถุดิบอาหารสัตว์ชนิด ข้าวโพดเมล็ด ข้าวโพดป่น กากดีดีจีเอส และกลูเทนข้าวโพด โดยเก็บตัวอย่างวัตถุดิบอาหารสัตว์จากสถานที่เก็บอาหารสัตว์นำเข้า ศูนย์รวบรวมวัตถุดิบอาหารสัตว์ สถานที่ผลิตอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และด่านตรวจสอบอาหารสัตว์ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ผลการตรวจวิเคราะห์พบว่า ในวัตถุดิบอาหารสัตว์มีการปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อราชนิด อะฟลาทอกซินรวม คิดเป็นร้อยละ 45.27 และอะฟลาทอกซิน บี1 บี2 จี1 และ จี2 คิดเป็นร้อยละ 45.27 22.17 1.15 และ 4.62 ตามลำดับ เมื่อคิดค่าเฉลี่ยของปริมาณอะฟลาทอกซินรวมที่ตรวจพบใน ข้าวโพดเมล็ด ข้าวโพดป่น กากดีดีจีเอส และ กลูเทนข้าวโพด คิดเป็น 45.11 23.23 2.89 และ 2.36 ppb ตามลำดับ ซึ่งไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P>0.05) โดยพบว่าค่าเฉลี่ยของปริมาณ อะฟลาทอกซินรวม อะฟลาทอกซิน บี1 บี2 จี1 และ จี2 ที่ปนเปื้อนในวัตถุดิบอาหารสัตว์ จากสถานที่เก็บอาหารสัตว์นำเข้า ศูนย์รวบรวมวัตถุดิบอาหารสัตว์ สถานที่ผลิตอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P>0.05) สำหรับวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีการปนเปื้อนของฟูโมนิซิน บี1 และ บี2 คิดเป็นร้อยละ 100 และ 98.85 ตามลำดับ เมื่อคิดค่าเฉลี่ยของปริมาณฟูโมนิซินที่ปนเปื้อนในวัตถุดิบอาหารสัตว์พบว่า ข้าวโพดป่นมีปริมาณฟูโมนิซิน บี1 สูงที่สุดคือ 1,072.20 ppb มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) เมื่อเทียบกับการปนเปื้อนในข้าวโพดเมล็ด กากดีดีจีเอส และกลูเทนข้าวโพด ปริมาณ 487.80 537.10 และ 688.90 ppb ตามลำดับ โดยพบว่าค่าเฉลี่ยของปริมาณฟูโมนิซิน บี1 และ บี2 ที่ปนเปื้อนในวัตถุดิบอาหารสัตว์สูงที่สุดมาจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เมื่อเปรียบเทียบกับวัตถุดิบอาหารสัตว์จากแหล่งอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) สำหรับการปนเปื้อนของซีราลีโนน คิดเป็นร้อยละ 33.49 ของจำนวนตัวอย่างวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั้งหมด เมื่อคิดค่าเฉลี่ยปริมาณของซีราลีโนน พบว่าในวัตถุดิบอาหารสัตว์ชนิดกลูเทนข้าวโพดมีปริมาณสูงที่สุด 146.40 ppb รองลงมาคือข้าวโพดเมล็ดปริมาณ 122.33 ppb ซึ่งมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) แต่พบว่าไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P>0.05) กับกากดีดีจีเอส ปริมาณ 111.85 ppb และข้าวโพดป่น 91.65 ppb ตามลำดับ นอกจากนี้ค่าเฉลี่ยของปริมาณซีราลีโนนที่ตรวจพบในวัตถุดิบอาหารสัตว์จากด่านตรวจสอบอาหารสัตว์และสถานที่เก็บอาหารสัตว์นำเข้า ปริมาณ 138.79 และ 124.31 ppb ตามลำดับ โดยวัตถุดิบอาหารสัตว์จากศูนย์รวบรวมวัตถุดิบอาหารสัตว์ตรวจพบค่าเฉลี่ยของปริมาณการปนเปื้อนซีราลีโนนน้อยที่สุด ปริมาณ 45.87 ppb ซึ่งมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ผลการศึกษาครั้งนี้ พบว่าบางตัวอย่างตรวจพบการปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อราในระดับที่เกินมาตรฐานตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558 ซึ่งได้แก่ อะฟลาทอกซินรวม หรือเกินมาตรฐานของสหภาพยุโรป ได้แก่ ฟูโมนิซิน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปัญหาการปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อราในวัตถุดิบอาหารสัตว์ยังคงมีอยู่ ดังนั้น แผนการตรวจติดตามและเฝ้าระวังสารพิษจากเชื้อราในวัตถุดิบอาหารสัตว์ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำข้อมูลมาวางแผนการควบคุม ป้องกันสารพิษจากเชื้อราที่ปนเปื้อนในวัตถุดิบอาหารสัตว์ ตลอดจนกำหนดค่ามาตรฐานที่เหมาะสม ซึ่งจะส่งผลให้อาหารสัตว์มีคุณภาพและปลอดภัยต่อสัตว์ตลอดจนผู้บริโภคสินค้าปศุสัตว์

 

คำสำคัญ: อะฟลาทอกซิน ฟูโมนิซิน ซีราลีโนน วัตถุดิบอาหารสัตว์ การปนเปื้อน


ทะเบียนวิชาการเลขที่ : 63(2)-0322-032
1 กองควบคุมอาหารและยาสัตว์ กรมปศุสัตว์

 

คลิกอ่านรายละเอียดเนื้อหา