ความพึงพอใจของเกษตรกรต่อการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ปีก ภายใต้โครงการส่งเสริม
เกษตรทฤษฎีใหม่ ปี 2561 ในพื้นที่สำนักงานปศุสัตว์เขต 11/
อามีนา แสงจันทร์2/
ผกามาส รุ่งเรือง3/
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ของการศึกษาครั้งนี้เพื่อศึกษาความพึงพอใจของเกษตรกรที่เข้าร่วมกิจกรรมการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ปีกภายใต้โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ ปี 2561 ในพื้นที่สำนักงานปศุสัตว์เขต 1 โดยใช้แบบสอบถามกับกลุ่มประชากรตัวอย่าง 361 ราย วิเคราะห์โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป เพื่อหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน พร้อมกำหนดค่าคะแนนเฉลี่ยเพื่อการแปรผลระดับความพึงพอใจของเกษตรกรในด้านต่าง ๆ
ผลการศึกษา พบว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงคิดเป็นร้อยละ 51.80 มีอายุระหว่าง 25-59 ปี คิดเป็นร้อยละ 72.58 มีอาชีพทำนาเป็นอาชีพหลักของครอบครัว คิดเป็นร้อยละ 67.59 อาชีพทำสวน เลี้ยงปศุสัตว์และทำไร่ คิดเป็นร้อยละ 13.57, 11.63 และ 7.20 ตามลำดับ พื้นที่ส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการฯ เป็นพื้นที่ของตัวเอง คิดเป็นร้อยละ 81.72
การดำเนินงานโครงการส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ กิจกรรมการเลี้ยงสัตว์ปีก เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีประสบการณ์การเลี้ยงสัตว์ปีกมาก่อน ร้อยละ 72.57 เกษตรกรได้รับความรู้จากการอบรมหลักสูตรส่วนกลางด้านการเลี้ยงไก่ไข่ คิดเป็นร้อยละ 86.15 โดยเกษตรกรได้นำความรู้ที่ได้รับไปปฏิบัติในระดับมาก (คะแนนเฉลี่ย 3.86) หลังจากที่เกษตรกรได้รับการสนับสนุนพันธุ์สัตว์ปีกส่วนใหญ่เลี้ยงเอง (ร้อยละ 88.09) รูปแบบการเลี้ยงจะเลี้ยงแบบขังคอกและปล่อยลานร้อยละ 50.31 การจัดการอาหารของสัตว์ปีกใช้วิธีซื้ออาหารมาให้ ร้อยละ 55.35 การดูแลสุขภาพสัตว์ปีกเบื้องต้น จะดูแลรักษาด้วยตัวเองร้อยละ 48.74 เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีแผนการเลี้ยงสัตว์ต่อร้อยละ 62.26 และไม่มีการจัดทำบันทึกข้อมูลรายรับรายจ่ายเรื่องการเลี้ยงสัตว์ปีกร้อยละ 86.43 เกษตรกรได้รับการติดตามหรือให้คำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ ร้อยละ 63.16
การประเมินความพึงพอใจของเกษตรกรที่ต่อการส่งเสริมสัตว์ปีกพบว่า เกษตรกรมีความพึงพอใจในระดับมากต่อคุณภาพปัจจัยการผลิตที่ได้รับ (3.54 – 3.64) ด้านการให้บริการของเจ้าหน้าที่ การให้คำแนะนำการป้องโรคระบาดของสัตว์ปีก ด้านผลสัมฤทธิ์ของโครงการ การเข้าร่วมโครงการในภาพรวม และเกษตรกรมีความพึงพอใจอยู่ในระดับปานกลางต่อจำนวนของปัจจัยการผลิตที่ได้รับ การให้คำแนะนำการจัดทำบันทึกข้อมูล การมีจำนวนสัตว์ปีกเพิ่มขึ้น และการนำมูลสัตว์ไปใช้ประโยชน์
ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะของการดำเนินการพบปัญหาด้านปัจจัยที่กรมปศุสัตว์สนับสนุน มีจำนวนน้อยเกินไป เกษตรกรไม่มีประสบการณ์ในการเลี้ยงสัตว์ปีกมาก่อน การสนับสนุนชนิดของสัตว์ปีกไม่ตรงต่อความต้องการ มีข้อเสนอแนะว่าควรสอบถามความต้องการของเกษตรกรก่อนสนับสนุน ควรมีการศึกษาถึงความคุ้มทุนในการเลี้ยงสัตว์ปีกเพื่อนำผลผลิตบริโภคในครัวเรือน ควรมีการชี้แจงให้เกษตรกรทราบถึงการเลี้ยงสัตว์ปีกเบื้องต้นและการเตรียมความพร้อมในการรับสัตว์ปีก
คำสำคัญ : ความพึงพอใจ เกษตรทฤษฎีใหม่ พื้นที่สำนักงานปศุสัตว์เขต 1
1/ทะเบียนวิชาการเลขที่ : 63(2)-0216(1)-180
2/ สำนักงานปศุสัตว์เขต 1 อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี 12000
3/ สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี 12000