การสำรวจพฤติกรรมการใช้เครื่องรีดนมในฟาร์มเกษตรกร

ที่เป็นสมาชิกสหกรณ์โคนมในพื้นที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี

ภายใต้โครงการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำนมดิบและแก้ไขปัญหาระบบสืบพันธุ์โคนมแก่สมาชิกของศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ1/

 

อามีนา  แสงจันทร์2/

ว่าที่ ร.ต.กฤษณะ อินไข่3/

 

บทคัดย่อ

            วัตถุประสงค์ของการศึกษาครั้งนี้เพื่อศึกษาวิธีการจัดการเครื่องรีดนมของเกษตรกร และพฤติกรรมการใช้การดูแลบำรุงรักษาเครื่องรีดนม ปัญหาและข้อบกพร่องของการใช้เครื่องรีดนม ตลอดจนสุขศาสตร์การรีดนมของเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เพื่อสรุปเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาการใช้จัดการเครื่องรีดนมและเป็นข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาคุณภาพน้ำนมดิบที่เกิดจากการจัดการเครื่องรีดนมและพฤติกรรมการใช้การดูแลบำรุงรักษาเครื่องรีดนม

            ผลการศึกษาจากเกษตรกรผู้ให้ข้อมูลของเกษตรกรจำนวน 100 ราย เป็นเพศชาย 52 ราย เพศหญิง 48 ราย พบว่า เกษตรร้อยละ 75 เลี้ยงโคนมเป็นฟาร์มขนาดกลาง รองลงมาร้อยละ 24 เป็นฟาร์มขนาดเล็ก โดยร้อยละ 39 ฟาร์มมีค่าโซมาติกเซลล์มากกว่า 1,000,000 เซลล์ต่อมิลลิลิตร รองมาร้อยละ 34 มีค่าโซมาติกเซลล์อยู่ระหว่าง 700,001 - 1,000,000 เซลล์ต่อมิลลิลิตร และร้อยละ 27 มีค่าโซมาติกเซลล์อยู่ระหว่าง 500,001 – 700,000 เซลล์ต่อมิลลิลิตร

           เกษตรกรร้อยละ 36 ใช้ปั๊มสุญญากาศต่อกับหัวรีด จำนวน 1 และ 2 หัวรีด โดยเกษตรกร ร้อยละ 83 ใช้ปั๊มสุญญากาศชนิดน้ำมัน จากการตรวจสอบการใช้งานของอุปกรณ์เครื่องรีดนมที่สำคัญ จำนวน 5 รายการ พบว่าใน 4 รายการ เกษตรกรไม่ได้มีการตรวจสอบให้การใช้งานอยู่ในค่ามาตรฐาน มากกว่าร้อยละ 64 ยกเว้นตัวควบคุมสุญญากาศ ด้านการทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องรีดนม จำนวน 10 รายการ เกษตรกรมีการทำความสะอาดเครื่องรีดนม 7 รายการ โดยเฉพาะถังนม ทำความสะอาดมากถึงร้อยละ 93 รองมาได้แก่ สายนม ถ้วยรวมนม ตัวจัดจังหวะการรีดนมหรือหัวใจ สายลมยาว มาตรวัดความดันของระบบ และท่อสุญญากาศ ร้อยละ 84 82 75 69 55 และ 51 ตามลำดับ แต่ไม่ทำความสะอาดตัวควบคุมสุญญากาศ ปั๊มสุญญากาศ และไลเนอร์ ร้อยละ 89 82 และ 75 ตามลำดับ  

            ด้านสุขศาสตร์การรีดนม พบว่าเกษตรกรร้อยละ 95 ที่ทำความสะอาดเต้านม และร้อยละ 73 เช็ดเต้านมด้วยน้ำยาคลอรีน แต่มีเกษตรกรเพียงร้อยละ 38 ที่มีการใช้น้ำยา CMT เพื่อตรวจน้ำนมก่อนสวมหัวรีดทุกครั้ง และร้อยละ 35 ที่มีการจุ่มหัวรีดนมในถังน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนนำไปสวมให้แม่โคตัวใหม่

            ข้อเสนอแนะการจัดการเครื่องรีดนมควรให้ให้เกษตรกรตรวจสอบและบำรุงรักษาการใช้งานของอุปกรณ์เครื่องรีดนมให้มีประสิทธิภาพตามมาตรฐาน การทำความสะอาดเครื่องรีดนม และอุปกรณ์ที่สำคัญได้แก่ ปั๊มสุญญากาศ ตัวควบคุมสุญญากาศ ไลเนอร์ และตัวจัดจังหวะการรีดนมหรือหัวใจ เกษตรกรต้องให้ความสำคัญกับสุขศาสตร์การรีดนม การทำความสะอาดและการเช็ดเต้านมด้วยน้ำยาคลอรีน ควรให้ความสำคัญกับการใช้น้ำยา CMT เพื่อตรวจน้ำนมก่อนสวมหัวรีดทุกครั้ง และการจุ่มหัวรีดนมในถังน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนนำไปสวมให้แม่โคตัวใหม่เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อที่เป็นปัญหาเต้านมอักเสบ จำนวนโซมาติกเซลล์ในน้ำนมดิบสูงเกินมาตรฐาน ที่มีผลต่อคุณภาพน้ำนม   

คำสำคัญ : พฤติกรรมการรีดนม อุปกรณ์เครื่องรีดนม สุขศาสตร์การรีดนม


1/ทะเบียนวิชาการเลขที่ : 65(2)-0216(1)-022
2/ สำนักงานปศุสัตว์เขต 1 อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี 12000
3/ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสระบุรี อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี 18000

คลิกอ่านรายละเอียดเนื้อหา