การวิเคราะห์พื้นที่เลี้ยงสัตว์ปีกเพื่อการควบคุมป้องกันโรคด้วยวิธีการตัดสินใจแบบหลายหลักเกณฑ์ และระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์

กรณีศึกษา:จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

 

พชรมน​ ทองเฟื่อง1/ สถิตย์พงษ์​ พรหมสถิตย์1/ ธีราภรณ์ พรหมภักดี2/ อาภาพร บุญสุวรรณ3/

 

บทคัดย่อ

 

       การวิเคราะห์การตัดสินใจแบบหลายหลักเกณฑ์ Multi-Criteria Decision Analysis (MCDA)  เป็นวิธีการหนึ่งที่นิยมนำไปใช้เพื่อวิเคราะห์หาตัวเลือกที่เหมาะสมในการปฏิบัติหรือแนวทางที่ดีที่สุด ในการแก้ไขปัญหาซึ่งการจัดลำดับความสำคัญของแต่ละปัจจัยนั้นขึ้นอยู่กับความคิดเห็นและประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญ การศึกษานี้ได้นำเอาวิธี MCDA มาใช้วิเคราะห์หาพื้นที่เหมาะสมด้านการป้องกันโรคสำหรับเลี้ยงสัตว์ปีกโดยใช้พื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นต้นแบบ ปัจจัยที่นำมาวิเคราะห์ได้แก่ ความหนาแน่นของเป็ดไล่ทุ่ง ความหนาแน่นของไก่พื้นเมือง ความหนาแน่นของถนนสายหลัก  ความหนาแน่นของแหล่งน้ำผิวดิน ระยะห่างจากโรงฆ่าสัตว์ปีก ระยะห่างจากแหล่งทำรังวางไข่ของนกอพยพ และสัดส่วนพื้นที่นาข้าว แต่ละปัจจัยได้ถูกนำมาพิจารณาและให้ค่าถ่วงน้ำหนักตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ และใช้กระบวนการวิเคราะห์ตามลำดับชั้น (Analytic Hierarchy Process) ร่วมกับระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ในการจัดทำแผนที่แสดงผลการวิเคราะห์ การศึกษาครั้งนี้พบว่าปัจจัยที่ผู้เชี่ยวชาญให้ความสำคัญมากที่สุดคือ ความหนาแน่นของเป็ดไล่ทุ่ง รองลงมาคือ ระยะห่างจากโรงฆ่าสัตว์ปีก และความหนาแน่นของไก่พื้นเมือง โดยได้ค่าคะแนนน้ำหนักอยู่ที่ 0.32 0.30 และ 0.16 ตามลำดับ ผลการวิเคราะห์ความเหมาะสมของพื้นที่ด้านการป้องกันโรค (ค่าคะแนน 1.00 – 5.00) จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีพื้นที่ตำบลที่มีระดับความเหมาะสมมากที่สุด (คะแนน >4.00 -5.00) ที่ร้อยละ 88.04 พื้นที่ตำบลที่มีระดับความเหมาะสมมาก (คะแนน >3.00-4.00) ที่ร้อยละ 11.48 และมีเพียง 1 ตำบลที่มีระดับความเหมาะสมปานกลาง (คะแนน >2.00-3.00) ซึ่งเป็นผลมาจากพื้นที่มีความหนาแน่นของเป็ดไล่ทุ่งและไก่พื้นเมืองสูง รวมถึงอยู่ใกล้แหล่งทำรังวางไข่ของนกธรรมชาติ ผลการวิเคราะห์นี้สามารถนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจในการสร้างฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกเชิงพาณิชย์ในแง่ของการควบคุมป้องกันโรค นอกจากนี้ยังใช้สำหรับวางแผนการเฝ้าระวังโรคสัตว์ปีกให้สอดคล้องกับระดับความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่  

 

 


คำสำคัญ : การวิเคราะห์การตัดสินใจแบบหลายหลักเกณฑ์ ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โรคระบาดในสัตว์ปีก 


 
เลขทะเบียนวิชาการ : 63(2)-0116(1)-159

 

1/ สำนักงานปศุสัตว์เขต 1

2/ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

3/ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดลพบุรี

 

คลิกอ่านรายละเอียดเนื้อหา