การศึกษาความรู้ ทัศนคติ การปฏิบัติในการป้องกันและควบคุมโรคปากและเท้าเปื่อยในโคนม
ของเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพโคนมในพื้นที่จังหวัดสระบุรี

 

ชัชรี นิยโมสถ1 สถิตย์พงษ์ พรหมสถิตย์2

บทคัดย่อ

 

โรคปากและเท้าเปื่อยเป็นโรคติดต่อที่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก การศึกษาครั้งนี้จัดทำขึ้นในจังหวัดสระบุรีซึ่งมีฟาร์มโคนมมากที่สุดในประเทศไทย และเป็นพื้นที่ที่พบการเกิดโรคนี้อย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างปีพ.ศ.2557 – พ.ศ.2563 พบการระบาดถึง 63 ครั้ง วัตถุประสงค์การศึกษา 1. เพื่อศึกษาความรู้ ทัศนคติและการปฏิบัติในการป้องกันและ ควบคุมโรคปากและเท้าเปื่อยในโคนมของเกษตรกร และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพโคนมในพื้นที่จังหวัดสระบุรี 2. เพื่อนำข้อมูลจากการศึกษาไปใช้ในการกำหนดแนวทางการมีส่วนร่วมในการป้องกันและควบคุมโรคปากและเท้าเปื่อยในพื้นที่ วิธีการศึกษา ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือเพื่อศึกษาข้อมูลความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติในการป้องกันและควบคุมโรคปากและเท้าเปื่อยในโคนมของเกษตรกร เจ้าหน้าที่ส่งเสริมของศูนย์รับนม/สหกรณ์โคนม และเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ รวมผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 449 คน นำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์ทางสถิติโดยใช้การศึกษาเชิงพรรณนา (Descriptive study) และการศึกษาเชิงอนุมาน (Inferential study) ผลการศึกษาพบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่มีความรู้ในระดับดี (ร้อยละ 93.25) ทัศนคติส่วนใหญ่อยู่ในระดับปานกลาง (ร้อยละ 94.25) และการปฏิบัติส่วนใหญ่อยู่ในระดับดี (ร้อยละ 86.50) เจ้าหน้าที่ส่งเสริมฯ ส่วนใหญ่มีความรู้ในระดับดี (ร้อยละ 68.75) ทัศนคติส่วนใหญ่อยู่ในระดับปานกลาง (ร้อยละ 68.75) และการปฏิบัติส่วนใหญ่อยู่ในระดับดี (ร้อยละ 93.75) เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ส่วนใหญ่มีความรู้ในระดับดี (ร้อยละ 93.94) ทัศนคติส่วนใหญ่อยู่ในระดับดี (ร้อยละ 81.82) และการปฏิบัติส่วนใหญ่อยู่ในระดับดี (ร้อยละ 100.00) ในการวิเคราะห์ข้อมูลปัจจัยพื้นฐานกับคะแนนความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติ ในกลุ่มเกษตรกรพบกว่าระดับการศึกษามีผลต่อความแตกต่างของคะแนนความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติอย่างมีนัยสำคัญ (P-value = 0.00) เกษตรกรที่ฟาร์มโคนมเคยเกิดโรคปากและเท้าเปื่อยในฟาร์มมีคะแนนความรู้สูงกว่ากลุ่มที่ไม่เคยเกิดโรคอย่างมีนัยสำคัญ (P-value = 0.00) และเกษตรกรกลุ่มที่มีรายได้น้อยกว่า 10,000 บาท/เดือน มีคะแนนทัศนคติต่ำกว่ากลุ่มที่มีรายได้สูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ (P-value = 0.01) ส่วนเจ้าหน้าที่ส่งเสริมฯ และเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์พบว่ากลุ่มที่มีฟาร์มโคนมในความรับผิดชอบมากกว่าจะมีคะแนนความรู้สูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ (P-value = 0.00 และ 0.01 ตามลำดับ) ส่วนผลการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคะแนนความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติ พบว่าคะแนนความรู้ของเกษตรกรมีความสัมพันธ์ในเชิงบวกกับคะแนนการปฏิบัติระดับปานกลางถึงสูง (r = 0.48; P-value = 0.00) และคะแนนความรู้ของเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์มีความสัมพันธ์ในเชิงบวกกับคะแนนทัศนคติและคะแนนการปฏิบัติระดับปานกลางถึงสูง (r = 0.45; P-value = 0.01 และ r = 0.36; P-value = 0.04 ตามลำดับ) ซึ่งทางคณะผู้ศึกษาได้นำผลการศึกษานี้ไปใช้ในการกำหนดแผนการดำเนินการระยะสั้น ซึ่งจะเน้นที่การส่งเสริมความรู้ด้านวัคซีน มาตรการในการทำลายเชื้อโรค และหน้าที่ของเกษตรกรตามมาตรา 7 ของพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ส่วนแผนการดำเนินการระยะกลางและระยะยาวนั้นต้องเน้นการผลักดันให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมเข้าสู่ระบบการรับรองฟาร์มที่มีระบบป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM) และพัฒนาเข้าสู่ระบบฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่มีการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ต่อไป

 

คำสำคัญ: โรคปากและเท้าเปื่อย ความรู้ ทัศนคติ การปฏิบัติ โคนม การป้องกันและควบคุม จังหวัดสระบุรี


เลขทะเบียนผลงานวิชาการ: 65(2)-0116(1)-044

1 สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสระบุรี อ.เมืองสระบุรี จ.สระบุรี 18000

2 สำนักงานปศุสัตว์เขต 1 อ.เมืองปทุมธานี จ.ปทุมธานี 12000

 

คลิกอ่านรายละเอียดเนื้อหา