การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมและศักยภาพของมาตรการเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันการระบาดของโรคไข้หวัดนกในพื้นที่ปศุสัตว์เขต 1

พชรมน ทองเฟื่อง1 วัชรพงษ์ ฟ้ากระจ่าง2

 

 

บทคัดย่อ

                การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมและศักยภาพ (SWOT analysis) ถูกนำมาประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายในทุกสาขาวิชารวมถึงงานวิจัยเกี่ยวกับด้านสาธารณสุข วัตถุประสงค์ของการศึกษาครั้งนี้เพื่อวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และอุปสรรค ของมาตรการควบคุมโรคไข้หวัดนกในพื้นที่ปศุสัตว์เขต1 และระบุกลยุทธ์ที่เหมาะสมในการพัฒนามาตรการให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน หลังจากทบทวนวรรณกรรมและรวบรวมมาตรการควบคุมโรคไข้หวัดนกจากกฏหมาย ข้อสั่งการ กิจกรรมและโครงการที่เกี่ยวข้องแล้ว ผู้ทำการศึกษาได้ระบุปัจจัยที่เป็นจุดแข็งและจุดอ่อน เพื่อการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในและระบุปัจจัยที่เป็นโอกาสและอุปสรรค เพื่อการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอกหรือศักยภาพของมาตรการ จากนั้นใช้ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดในพื้นที่ปศุสัตว์เขต 1 สำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ บริษัทเอกชนผู้ประกอบธุรกิจผลิตสัตว์ปีกครบวงจร และมหาวิทยาลัย ในการจัดอันดับ (ranking) และให้ค่าถ่วงน้ำหนัก (weighting) แต่ละปัจจัย การจัดอันดับแบ่งเป็น 1 – 4 (ค่าเฉลี่ย 2.5) ตามระดับความแรงในการเป็นจุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และอุปสรรคของแต่ละปัจจัย ค่าถ่วงน้ำหนักมีค่าระหว่าง 0 (ไม่มีความสำคัญ) – 1 (มีความสำคัญอย่างยิ่ง) นำอันดับมาคูณกับค่าถ่วงน้ำหนักให้ได้คะแนน (score) ก่อนจะนำคะแนนของทุกปัจจัยมารวมกันเพื่อระบุผลการวิเคราะห์ ผลรวมของคะแนนสภาพแวดล้อมภายในมีค่าเท่ากับ 2.60 บ่งชี้ว่ามาตรการมีจุดแข็งที่โดดเด่นกว่าจุดอ่อน และผลรวมคะแนนสภาพแวดล้อมภายนอกหรือศักยภาพมีค่าเท่ากับ 2.73 บ่งชี้ว่าโอกาสมีความโดดเด่นกว่าอุปสรรค เมื่อพิจารณาผลการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในและศักยภาพพบว่า กลยุทธ์เชิงรุกซึ่งเป็นการนำจุดแข็งที่มีอยู่มาสร้างความได้เปรียบจากโอกาสที่เอื้ออำนวยมีความเหมาะสมที่สุดในการนำมาใช้พัฒนาประสิทธิภาพของมาตรการปัจจุบัน ผลการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในและศักยภาพที่มีค่าใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย บ่งชี้ว่ามีความแตกต่างระหว่างจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและอุปสรรคไม่มากนัก หรือสรุปได้ว่ามาตรการมีความครอบคลุมและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งสอดคล้องกับสถานะปลอดการระบาดของโรคไข้หวัดนกของประเทศไทย

คำสำคัญ: ไข้หวัดนก มาตรการเฝ้าระวังควบคุมและป้องกันโรค วิเคราะห์สภาพแวดล้อมและศักยภาพ


เลขทะเบียนวิชาการเลขที่ 65(2)–0116(1)-080

1 สำนักงานปศุสัตว์เขต 1 อ.เมือง จ.ปทุมธานี 12000

2 สำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ แขวงพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400

 

คลิกอ่านรายละเอียดเนื้อหา